Aug 29, 2012

วิถีฮารูกิ มูราคามิ : โลกที่เรียกว่า 1Q84 อุปมาและความจริงในนิยาย


ส่วนหนึ่งของสกู๊ปพิเศษ “บทสัมภาษณ์ มุราคามิ ฮารุกิ ขนาดยาว”คังกาเอรุ ฮิโตะ (thinker)(นิตยสารราย 3 เดือน) ฉบับฤดูร้อน  ปี 2010 (วางขายเดือนสิงหาคม)

ผู้สัมภาษณ์ มาซาชิ มัตสึอิเอะ  หัวหน้ากองบรรณาธิการ คังกาเอรุ ฮิโตะ  ใช้เวลาสัมภาษณ์ถึง 3 วัน !!!
ขอขอบคุณมุทิตา พานิช ผู้มีน้ำใจแปลมาฝากแฟนๆ ชาวไทยของเฮียมูมา ณ ที่นี้ค่ะ

(คลิกไปอ่าน ความเดิมก่อนหน้า ที่มาที่ไปได้  >> ที่นี่ค่ะ)

โลกที่เรียกว่า “1Q84”


--- ฉากบรรยายเรื่องเซ็กซ์ที่อยากถามอีกฉากหนึ่ง คือเซ็กซ์ในกรอบที่เรียกว่าศาสนา มีฉากเซ็กซ์เชิงพิธีกรรมชนิดหนึ่งบรรยายไว้ ซึ่งอาจมีความหมายลึกลงไปถึงด้านมานุษยวิทยาวัฒนธรรม ( cultural anthropology) และอาจเชื่อมไปถึงการที่อาโอมาเมะตั้งครรภ์โดยไม่ได้มีสัมพันธ์ทางเพศโดยตรงกับเท็งโกะ คุณคิดว่าถ้าไม่จ้องมองไปถึงการนำเอาเรื่องทางเพศแบบนั้นเข้ามาเกี่ยวข้อง จะไม่สามารถบรรยายภาพศาสนาได้อย่างนั้นหรือ

มุราคามิ  ไม่ใช่  เป็นในทางตรงข้ามกันเลย   โลก “1Q84” ที่อาโอมาเมะมุดเข้ามา เป็นโลกที่มีสิ่งดึกดำบรรพ์บางอย่างซึมขึ้นมาจากพื้นดิน เมืองโตเกียวในปี 1984 พื้นเป็นคอนกรีตแข็ง เป็นโลกที่ไม่มีอะไรซึมขึ้นมา แต่สถานที่ที่อาโอมาเมะลงบันไดฉุกเฉินไปเป็นโลกที่มีสิ่งที่ว่าค่อยๆ ซึมออกมา เพราะฉะนั้นศาสนาก็ต้องเป็นสิ่งที่ใกล้เคียงกับความดึกดำบรรพ์นั้น

โลกของ  “1Q84” เรียกได้ว่าเป็นโลกที่ลิตเทิลพีเพิลคืบคลานออกมาจากใต้ดิน ส่วนลิตเทิลพีเพิลคืออะไร ผมเองก็อธิบายไม่ถูก ถ้าคิดแบบคร่าวๆ ว่าเป็นผู้ส่งสารจากโลกใต้ดินก็อาจจะเข้าใจง่ายขึ้น

--- ผมรู้สึกว่าลิตเทิลพีเพิลไม่เกี่ยวกับทั้งศาสนาคริสต์ และก็ไม่เกี่ยวกับศาสนาพุทธ เป็นอะไรที่คล้ายจะเป็นรากเหง้ากว่านั้น ในงานชิ้นก่อนๆ ของคุณว่าไปแล้วจะว่าไม่เคยมีก็ไม่ใช่ อย่างเช่น “ยามิคุโร” ใน แดนฝันปลายขอบฟ้า (Hardboiled Wonderland)

มุราคามิ  ใช่แล้ว  “ยามิคุโร” เป็นอย่างนั้นจริงๆ  ยังมี “ปีศาจเขียว” ที่อยู่ในเล่ม ปีศาจแห่งเล็กซิงตัน (Lexington Ghosts)  ด้วย สิ่งที่คืบคลานออกมาจากใต้ดินพวกนี้  พอผมขุดหลุมเพื่อสร้างเรื่องราว มันก็ออกมาเองตามธรรมชาติ 

--- ใน ‘1Q84’ มีอาจารย์ด้านมานุษยวิทยาวัฒนธรรมที่ชื่อเอบิสุโนะ และมีการกล่าวถึงหนังสือเรื่อง “The Golden Bough” ของ Frazer รู้สึกว่าสิ่งหนึ่งในอะไรต่อมิอะไรที่คุณโยนเข้าไปหลังเปิดปากทางเรื่องราวให้กว้างขึ้น น่าจะเป็นเรื่องของมานุษยวิทยาวัฒนธรรม

มุราคามิ  งานของ Frazer เล่มนั้นผมอ่านเมื่อนานมาแล้ว ที่จริงจำไม่ค่อยได้ แต่อ่าน “Myths to Live By” ของ Joseph Campbell บ่อย ไม่เกี่ยวกับว่ามีประโยชน์กับการเขียนนิยายหรือไม่ อ่านเพราะน่าสนใจดีแค่นั้น

สำหรับผม ที่ว่าน่าสนใจก็คือ สิ่งที่เขียนอยู่ในหนังสือพวกนี้เป็นสิ่งที่เอื้อมมือไปจับต้องได้ ถ้าใช้คำภาษาอังกฤษก็คือ tangible  ทางมานุษยวิทยาวัฒนธรรมจัดสิ่งเหล่านั้นเป็นการเปรียบเทียบ (analogy) สัญลักษณ์ หรืออุปมาอุปไมย (metaphor) ชนิดหนึ่ง แต่สำหรับนักเขียนนิยาย มันไม่ใช่สัญลักษณ์ อุปมาอุปมัย หรือการเปรียบเทียบ แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง  หากโยนสิ่งนั้นลงไปในเรื่องราว มันก็จะเกิดขึ้นจริงในฐานะความเป็นจริง มันจะนำไปสู่ผลอย่างไร ผลที่ถูกนำพาให้เกิดขึ้นก็เป็นความเป็นจริง หน้าที่ของนักเขียนนิยายคือส่งสายตามองตามไป เพราะฉะนั้นถ้าแค่อ่าน “The Golden Bough” ก็จะหยุดอยู่แค่นั้น ต้องจับมันโยนลงหลุมให้ทำงาน สิ่งที่ผมว่าสนุกที่สุดในการเป็นนักเขียนนิยายก็คือการที่เราสามารถทำได้ด้วยตัวเอง โยนการเปรียบเทียบ สัญลักษณ์ อุปมาอุปมัย พวกนี้ลงหลุมไปเรื่อยๆ ทำให้มันเป็นความจริงเสียเลย

--- ไม่ใช่จากเหตุไปสู่ผล เป็นตรงข้ามสินะครับ ผลทำให้เกิดเหตุ

มุราคามิ  ใช่ นี่เป็นการทำงานที่เป็นส่วนตัวอย่างที่สุด ทำแล้วก่อให้เกิดปรากฏการณ์บางอย่าง พอนำไปสู่ผลอย่างหนึ่ง vector (ทิศทางการเคลื่อนที่) ตรงนี้ต้องเป็นสากล ถ้าเขียนเรื่องตามใจชอบแบบตามใจชอบมันก็ไม่เป็นนิยาย ต้องมี vector ที่เป็นสากลจึงจะกลายเป็นผลงานที่มีความหมายได้ แน่นอนว่าการไปถึงตรงนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ว่าจะเขียนได้ดีขนาดไหน หรือเขียนได้สนุกขนาดไหน ถ้า vector ยังตอบไม่ตรงใจ ก็แสดงว่ามันยังไม่ได้ทำหน้าที่ในฐานะเรื่องราวที่ดี นี่อาจจะเป็นสิ่งที่ได้มาแต่กำเนิดในระดับหนึ่ง

--- อาจไม่ใช่สิ่งที่ได้มาจากการเพียรฝึกฝน

มุราคามิ  แน่นอนว่าอาจมีบ้างที่ได้จากการเพียรฝึกฝน แต่การกำหนดแกนหลักสำหรับประเมิน vector นั้นยากมาก สุดท้ายแล้วก็ต้องใช้ความรู้สึกวัด หลายครั้งที่เป็นอย่างนั้น นั่นเป็น vector ที่มีแก่นหรือเปล่า หรือว่าแค่ถากผิวๆ อาจพูดอีกอย่างได้ว่าเรื่องราวนั้นมีชีวิตหรือไม่ เป็นเรื่องที่อธิบายเป็นคำพูดได้ไม่ง่าย แต่คนอ่านเขารู้ 

รู้ได้ยังไง หนังสือที่คนนี้เขียน ถ้าออกมาอีกก็อยากซื้ออ่านอีก ถ้าเป็นอย่างนั้นแสดงว่าเรื่องนั้น – อย่างน้อยก็ในความหมายหนึ่ง – มีชีวิต นั่นอาจเป็นแกนประเมินอย่างหนึ่ง แต่การวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้อยู่บนบริบทแบบมีผลประโยชน์จริงอย่างการยอมควักเนื้อ  นักวิจารณ์ที่มั่นคงซื่อตรงก็มีบ้าง วิจารณ์ได้เยี่ยมยอดก็มี แต่ถ้าพูดกันตามหลักการ สิ่งที่สำคัญจริงๆ ไม่สามารถเอ่ยออกมาเป็นคำพูดได้ง่ายๆ อธิบายกันไม่ได้ เพราะอธิบายด้วยคำพูดไม่ได้ พวกผมถึงได้เขียนเป็นเรื่องราวออกมา

เพราะฉะนั้นผมจึงยึดเอาการที่ผู้อ่านซื้อผลงานชิ้นถัดไปเป็นหลัก ผู้อ่านเฝ้ารองานของผมออกมา แล้วซื้อต่อไปเรื่อยๆ คิดว่านี่เป็นการพิสูจน์อย่างหนึ่ง แน่นอนว่าไม่ใช่ทั้งหมด แต่ถ้ามีหลักฐานอย่างนั้น ไม่ว่าหนังสือกระดาษจะคงอยู่ต่อไปหรือหนังสืออิเลคทรอนิคส์จะเข้ามาเป็นหลักแทนก็คงไม่เกี่ยวเท่าไหร่ เรื่องเล่าเป็นรูปแบบที่เกิดขึ้นและอยู่มาหลายพันปี มีลมหายใจยาวนานและพลังแข็งแกร่ง ไม่เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิงเพียงเพราะอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือเปลี่ยนหรอก

Somerset Maugham เขียนไว้ว่า “ผมไม่เคยเจอนักเขียนคนไหนพูดว่าหนังสือของตัวเองขายไม่ออกเพราะมันไม่น่าสนใจ” (หัวเราะ) เรื่องแบบนี้ก็ไม่เกี่ยวกับตัวอุปกรณ์

ลินคอร์นบอกว่า “คุณอาจหลอกคนทั้งหมดได้ในช่วงเวลาสั้นๆ คุณอาจหลอกคนไม่กี่คนไปตลอดกาลก็ได้ แต่จะหลอกคนทุกคนไปตลอดกาลไม่ได้” ซึ่งคิดว่าจริงสำหรับหนังสือเหมือนกัน ผมเขียนหนังสือต่อเนื่องมาสามสิบปี ซึ่งก็เป็นเวลาที่นานพอดู มีช่วงหนึ่งถึงกับโดนว่า “ทำเป็นจะแต่งงานด้วยเพื่อหลอกเอาเงิน” ยังถูกหลอกกันอยู่หรือเปล่า คนอ่านก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แล้วก็ชื่นชมผลงานด้วย ตอนนี้ไม่ใช่แค่ในญี่ปุ่น แต่แพร่หลายไปทั่วโลก สำหรับผมแล้วเป็นเรื่องที่แทบจะเหลือเชื่อ






No comments: