May 29, 2012

วิถีฮารูกิ มูราคามิ : หลุมที่เรียกว่าเรื่องแต่ง และการส่องสะท้อนตัวเอง

ส่วนหนึ่งของสกู๊ปพิเศษ “บทสัมภาษณ์ มุราคามิ ฮารุกิ ขนาดยาว”คังกาเอรุ ฮิโตะ (thinker)(นิตยสารราย 3 เดือน) ฉบับฤดูร้อน  ปี 2010 (วางขายเดือนสิงหาคม)
ผู้สัมภาษณ์ มาซาชิ มัตสึอิเอะ  หัวหน้ากองบรรณาธิการ คังกาเอรุ ฮิโตะ  ใช้เวลาสัมภาษณ์ถึง 3 วัน !!!
ขอขอบคุณมุทิตา พานิช ผู้มีน้ำใจแปลมาฝากแฟนๆ ชาวไทยของเฮียมูมา ณ ที่นี้ค่ะ


(คลิกไปอ่าน ความเดิมก่อนหน้า ที่มาที่ไปได้  >> ที่นี่ค่ะ)

ขุดเรื่องราวออกมา   

มุราคามิ  ต่างจากตัวละครในเรื่อง 1Q84  ตัวผมเอง สมัยเป็นเด็ก ไม่มีความทรงจำว่ามีบาดแผลถูกทำร้ายจิตใจเลย ผมโตมาในย่านที่อยู่อาศัยสงบเงียบที่ชุกุงาวะและอะชิยะ เป็นเด็กในครอบครัวชนชั้นกลาง เป็นลูกคนเดียวเลยไม่มีการแก่งแย่ง ไม่มีปัญหาครอบครัว ผลการเรียนแค่ธรรมดาๆ ไม่ได้ดีนัก อ่านหนังสือ ฟังเพลง เล่นกับแมว  ใช้ชีวิตเรียบๆ สามัญทั่วไป โรงเรียนก็ไปโรงเรียนรัฐบาลธรรมดา มีเพื่อนพอสมควร ออกเดตกับแฟน เที่ยวเล่นนอกบ้านบ่อยๆ  ชีวิตปลอดโปร่งราบรื่นมาตลอด สรุปได้ว่าไม่มีเรื่องที่อยากเขียนเป็นนิยายสักเรื่องเดียว

    ผมอ่านหนังสือมากมายมหาศาล อ่านมากขนาดนั้น โดยทั่วไปคงอยากเขียนอะไรขึ้นมาเองบ้าง แต่ไม่รู้ทำไมไม่รู้สึกอยากเขียนนิยายเลยจนอายุยี่สิบเก้า ทำไมหรือ เพราะไม่มีเรื่องที่ควรเขียนน่ะสิ ในตัวผมไม่มีอะไรที่เป็น drama เลยสักนิด

    ยุคก่อนหน้านั้น มีสงคราม มีความยากจน สิ่งที่ควรเขียนมีอยู่ทุกหนแห่ง ในเชิงอุดมการณ์ก็มีการเขียนเรื่องอย่าง ‘Kanikosen’ ( http://en.wikipedia.org/wiki/Kanik%C5%8Dsen ) ออกมา แต่เรื่องที่ผมอยากเขียนหรือที่ผมควรเขียนไม่มีเลย เพราะอย่างนั้นพอออกจากมหาวิทยาลัย เปิดร้าน มีหนี้ ก็ทำงานงกๆ ไม่ลืมหูลืมตาทุกวัน อยู่มาวันหนึ่งตอนอายุยี่สิบเก้า เกิดคิดขึ้นมาว่า “อ๊ะ อาจจะเขียนได้” แค่คิดขึ้นมาโดยไม่มีเหตุผลอะไรรองรับ เริ่มแรกไม่รู้จะเขียนอะไรดี ก็เลยเริ่มจากการเขียนสิ่งที่นึกได้ลงไป

    ทีนี้ ระหว่างเขียนก็มีสิ่งที่ค่อยๆ ตระหนักรู้ขึ้นมา รู้ว่าที่จริงแล้วไม่ใช่ว่าสมัยเป็นเด็กตัวเองไม่เคยมีบาดแผลเลย   คนเรา ไม่ว่าจะเป็นใคร ไม่ว่าจะอยู่ในสภาวะแวดล้อมแบบไหน ในขั้นตอนการเติบโตแต่ละคนก็สร้างบาดแผลให้ตัวเอง ทำตัวเองบาดเจ็บ เพียงแต่เราอาจไม่รู้ตัว




 --- เพิ่งรู้ตัวเมื่อเริ่มเขียนนิยายตอนอายุยี่สิบเก้าหรือ
มุราคามิ  อาจรู้จากการแต่งงาน พอยืนได้ด้วยตัวเอง ก้มหน้าก้มตาทำงานไม่ว่อกแว่กไปทางอื่น รู้ว่าตัวเรา ในความหมายหนึ่งก็สูญเสีย มีบาดแผล บาดเจ็บมาเรื่อยๆ ก่อนหน้านั้นผมคิดว่าตัวเองโตมาตามสบายในสภาพแวดล้อมสงบสุขไร้ปัญหา มีวัยเด็กที่มีความสุขพอสมควร แต่ก็อาจพูดไม่ได้ว่าเป็นอย่างนั้นเพียงอย่างเดียว

    ผมไม่ได้จะตำหนิพ่อแม่หรอกนะ พ่อแม่ก็แค่ทำในสิ่งที่พวกเขาทำได้ ไม่ว่าสัตว์ชนิดไหนก็เหมือนกัน ส่งมอบทักษะวิธีดำรงชีวิตอยู่ต่อไปให้กับลูก แต่มนุษย์เราต่างจากสัตว์อื่น เรามีชีวิตความเป็นอยู่ทางสังคมที่ซับซ้อนมาก วิธีการก็เลยยิ่งซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ แต่การส่งมอบวิธีการที่ว่านี้ ในความหมายหนึ่งก็คือการปิด circuit ให้แคบลงเรื่อยๆ เข้าใจใช่ไหม

--- เข้าใจดีเลยครับ

มุราคามิ  พอผมยืนได้ด้วยตัวเอง เป็นอิสระ ทำงานด้วยตัวเอง สร้างระบบการดำรงชีวิตของตัวเอง ก็ค่อยๆ รู้มากขึ้นเรื่อยๆ ว่าตัวเองมีบาดแผลมามากแค่ไหน อาจดูเหมือนย้ำ แต่ไม่ใช่จะติหนิพ่อแม่หรอกนะ วิธีคิดและวิธีใช้ชีวิตของเราแตกต่างกันสิ้นเชิง แต่ก็ช่วยไม่ได้ จากตรงนั้น จากความเจ็บปวดนั้น จากความรู้สึกแปลกแยก เรื่องราวจากภายในของตัวเองก็เกิดออกมา

    ผู้คนมีบาดแผลทางใจที่ออกมาใน ‘1Q84’ ถูกขยายขึ้นจนสุดขั้ว เป็นการขยายจนเกินจริง แต่ก็เป็นภาพสะท้อนตัวของผมเองเหมือนกัน ผมรู้สึกอย่างนั้นระหว่างเขียน เพราะฉะนั้นจึงเขียนเรื่องราวได้สมจริง หรือว่าเราอาจเคยเป็นอย่างนั้น สามารถเอาตัวเองลงไปวางในสถานการณ์ของคนอื่นแล้วเขียนออกมาเป็นเรื่องราวได้ พอทำอย่างนั้นแล้ว ตัวละครก็จะลุกขึ้นมา เคลื่อนไหวไปด้วยตัวเอง

--- ระหว่างที่เขียนนิยาย คุณรู้สึกขึ้นมาว่า ตนเองอาจเคยมีบาดแผล เคยบาดเจ็บ ความตระหนักรู้ที่ว่านั้น จนถึงปัจจุบันเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง ในตอนนี้สิ่งที่เป็นบาดแผลก็ยังเป็นอยู่เหมือนเดิมหรือเปล่า การเขียนนิยายมาอย่างต่อเนื่อง สะท้อนตัวเองลงไปในเรื่องแต่ง คุณมองเห็นหนทางคลี่คลายตามแบบของคุณหรือยัง

มุราคามิ  ตั้งแต่ผมขุดหลุมที่เรียกว่าเรื่องแต่ง ให้กว้างขึ้น ลึกขึ้น ระดับของการตรวจสอบตัวเองก็ลึกขึ้นด้วย ผมทำต่อเนื่องมากว่าสามสิบปีแล้ว ยิ่งขุดลึกลงไปก็มองเห็นเรื่องราวจากมุมอื่นได้มากขึ้น มองได้หลายชั้นขึ้น ทำซ้ำไปซ้ำมาอยู่อย่างนั้น ในทางตรงข้าม ถ้าขุดหลุมให้ลึกลงไปอีกไม่ได้ก็ไม่มีความหมายที่จะเขียนนิยายอีกแล้ว

    อย่างที่พูดเมื่อกี้ ตอนแรกคิดว่าในตัวเองไม่มี drama ไม่มีความเป็นเรื่องแต่ง ก็เลยเลือกสถานที่ที่น่าจะมีอะไรสักอย่าง แล้วก็ตั้งหน้าตั้งตาขุดลงไป ขุดอย่างเดียว ระหว่างที่ทำ ขาและสะโพกก็แข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ ดึงเอาเรื่องราวออกมาได้มากขึ้น ยาวขึ้น เรื่องราวที่ว่านี้สุดท้ายแล้วก็ออกมาจากรากของตัวเอง การดึงเอารากนั้นออกมาสู่สายตา บางกรณีเป็นเรื่องโหดร้ายอย่างยิ่งกับตัวผมเอง บางครั้งต้องมองสิ่งที่ไม่อยากมอง การจะทนต่องานเช่นนี้ได้ สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องทำสำนวนการเขียนให้หนักแน่น

 
(ตอนต่อไป : วิถีฮารูกิ มูราคามิ : ที่มาที่ไปของ 1Q84 เล่ม ๓)

(ภาพประกอบเป็นภาพประกอบการสัมภาษณ์ครั้งนี้จากนิตยสาร thinker ญี่ปุ่น)

No comments: